วัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ผู้คนมีนิสัยรักการเรียนรู้ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการเรียนรู้ มีนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต สนใจและใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ผู้คนสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ที่หลากหลายและใช้ความรู้และทักษะความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม มีกระบวนการทางสังคมที่เกื้อหนุนส่งเสริมให้บุคคล กลุ่มบุคคล และชุมชนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ทรัพยากรและแหล่งการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการ สะดวกรวดเร็วและมีการให้บริการอย่างครอบคลุมทั่วถึง เป็นสังคมที่มีการแบ่งปัน การถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทุกคนในสังคมร่วมมีบทบาทในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง องค์ความรู้จากผู้ทรงภูมิปัญญา มีระบบการบริหารจัดการความรู้ที่ทุกคนและทุกภาคส่วนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมได้ การพัฒนาสังคมเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์บนฐานการพัฒนาด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ และทัศนคติที่ดีแบบองค์รวมเพื่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพและมีความสุข จะเห็นได้ว่า สำหรับบริบทโรงเรียน การพัฒนาโรงเรียนไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ยั่งยืนต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานในการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ในการปฏิบัติขึ้นอยู่กับลักษณะบริบทโรงเรียน แนวนโยบาย วัฒนธรรมการเรียนรู้ การสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย และระบบโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียน การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตพื้นฐานให้กับผู้เรียนหรือผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในอนาคต ซึ่งทุกคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวนี้ได้...สู่การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในโรงเรียน (Embracing a culture of lifelong learning)