ยกระดับระบบหลักสูตร การจัดการเรียนรู้และงานวิชาการเพื่อเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้วิถีใหม่

ยกระดับระบบหลักสูตร การจัดการเรียนรู้และงานวิชาการเพื่อเสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้วิถีใหม่
วิทยากร / สังกัด :
  • ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์ - ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนราชินีบน
  • ผอ.ฐานันดร์ ไบรนางกูร - ผู้อำนวยการโรงเรียนกฤตศิลป์วิทยา

บริบทของโลกที่พลิกผันไปด้วยสถานการณ์โควิด – ๑๙ ส่งผลให้โรงเรียนต่าง ๆ จำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาระบบหลักสูตร การจัดการเรียนรู้และงานวิชาการให้สอดคล้องวิถีใหม่ของการเรียนรู้ การทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันของนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรของโรงเรียน ทั้งยังต้องรองรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก ระบบดังกล่าวจึงควรพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ ให้มีลักษณะพื้นฐานดังนี้ (๑) หลักสูตรฐานสมรรถนะ: สถานการณ์โควิด ๑๙ ชี้ชัดว่าเด็กไทยต้องสามารถนำ KPA จากการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดไปใช้ในชีวิตจริงจนเกิดเป็นสมรรถนะ โรงเรียนจึงควรริเริ่มยกระดับหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยกำหนดจุดมุ่งหมายในการพัฒนานักเรียนให้มีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับชีวิตวิถีใหม่เนื้อหาสาระบูรณาการข้ามศาสตร์ กระบวนการเรียนรู้เชิงสถานการณ์เน้นการปฏิบัติในชีวิตจริงและสะท้อนความคิด และประเมินสมรรถนะตามเกณฑ์ระดับพฤติกรรม/การปฏิบัติ (๒) การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน: โรงเรียนควรพัฒนาระบบบริหารจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานอย่างยืดหยุ่น เพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนแบบ on site โดยประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันที่จำเป็นและตอบโจทย์ต่อไปนี้ (๒.๑) พื้นที่สื่อสารส่วนตัวและสาธารณะ (๒.๒) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ผสมผสาน synchronous และ asynchronous learning โดยมีจุดเน้นในการวิจัยและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ออนไลน์ให้ “เลียนแบบ” active learning และ (๓) งานวิชาการแบบผสมผสาน: โรงเรียนควรพัฒนาระบบบริหารงานวิชาการแบบผสมผสานอย่างยืดหยุ่น โดยมุ่งพัฒนาสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับครูทุกคน เพื่อให้สามารถพัฒนาบทเรียนร่วมกัน ทำวิจัยในชั้นเรียนและนำเสนอผลงานสู่สาธารณชนได้อย่างมีคุณภาพ โดยยังคงหลักวิชาการที่ถูกต้องไว้เช่นเดิมการวิจัยและพัฒนาระบบหลักสูตร การจัดการเรียนรู้และงานวิชาการข้างต้น ถือเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของโรงเรียนในการพัฒนานวัตกรรมการบริหารการศึกษาบนพื้นฐานของหลักวิชาการ ความพอเพียงและความเป็นไปได้ในการเข้าถึงและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้วิถีใหม่ในบริบทที่แตกต่างกันของโรงเรียนทั่วประเทศ