พลเมืองรักการอ่าน หรือในการบรรยายนี้เรียกว่า “พลเมืองที่มีความฉลาดรู้ด้านการอ่าน” (citizens with reading literacy) เป็นการสังเคราะห์มโนทัศน์ที่หลากหลายของความเป็นพลเมืองโลกร่วมกับความฉลาดรู้ด้านการอ่าน โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอสาระสำคัญของความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ในฐานะสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 และแนวทางการส่งเสริมความฉลาดรู้ด้านการอ่านด้วยวิธีการที่เหมาะสม โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างระบบนิเวศและวัฒนธรรมการอ่านเพื่อความฉลาดรู้ การบรรยายนี้นำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความฉลาดรู้ด้านการอ่านที่หลากหลาย ตามบริบทและความพร้อมของโรงเรียน โดยมีจุดเน้นที่ (1) การออกแบบกรอบแนวคิดเพื่อส่งเสริมความฉลาดรู้ด้านการอ่านที่ขับเคลื่อนด้วยกรอบการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (2) การออกแบบการจัดการเรียนรู้การอ่านที่เน้นความเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตร การสอน และการประเมิน และ (3) การตีความเพื่อทำความเข้าใจสารสนเทศที่ได้จากการจัดการเรียนรู้ร่วมกับกรอบการประเมิน เพื่อพัฒนาครูและผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองรักการอ่าน ที่พัฒนาจากการอ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐาน สู่การอ่านเพื่อความเข้าใจ และ สู่ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ในการบรรยายนี้ พลเมืองที่มีความฉลาดรู้ด้านการอ่าน หมายถึง บุคคลที่มีระดับความสามารถในการอ่าน คือ ทำความเข้าใจบทอ่าน วิเคราะห์ตีความสิ่งที่เข้าใจ และนำสิ่งที่ได้จากการอ่านไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ ทั้งยังสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลสารสนเทศได้อย่างหลากหลายทั้งเชิงรูปแบบและเชิงสาขาวิชา เพื่อพัฒนาตนเองให้อ่านและใช้ความรู้จากการอ่านอย่างชาญฉลาด (ฉลาดคิด ฉลาดรู้ ฉลาดทำ) ซึ่งก่อให้เกิดความตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น สามารถตัดสินใจ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติบนความรับผิดชอบต่อสังคม