คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การศึกษาของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาโดยเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งในสี่ของงบประมาณแผ่นดิน แต่อย่างไรก็ตาม การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติกลับบ่งชี้ว่าคุณภาพการศึกษาของไทยกำลังตกต่ำลงโดยลำดับ เนื่องจากระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การประเมินสถานการณ์บนหลักการและเหตุผล และยังไม่สามารถจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการเผชิญต่อความท้าทายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเห็นความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล็งเห็นความจำเป็นต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ จึงจัดตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2557 โดยมีวิสัยทัศน์คือ การมุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้และเติบโตร่วมกัน
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ให้คุณค่าแก่การยอมรับและความเข้าใจระหว่างผู้สอนผู้เรียนผ่านทฤษฎีและการปฏิบัติที่เชื่อมร้อยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ที่หล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตทางด้านปัญญาและจิตวิญญาณ
คณาจารย์ในคณะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา อาทิ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ที่มีปณิธานในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ด้านต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจความหมายของการเรียนรู้และการศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชา ทำให้กระบวนการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในชั้นเรียน แต่ตั้งอยู่ในบริบทที่เป็นจริงของชีวิตและสังคม
วิสัยทัศน์
สถาบันการศึกษาชั้นนำที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยการเรียนรู้ (The leading educational institution driving the society through learning)
เป้าหมาย
สังคมตระหนักและให้คุณค่าแก่การเรียนรู้ผ่านปัญญาและการปฏิบัติที่เชื่อมร้อยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์
ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สร้างองค์กรที่พร้อมปรับตัวและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (W – Workplace adaptability and quality enhancement)
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : สร้างเครือข่ายและการเป็นที่รู้จักในระดับชาติและนานาชาติ (I – Inter/national partnership and visibility)
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน (S – Social responsibility and collective change)
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : สร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบโจทย์แห่งอนาคต (E – Education for the future)