มูลนิธิส่งเสริมเด็กปัญญาเลิศ

“คนเก่ง” เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทุกประเทศให้ความสำคัญและเห็นคุณค่า โดยเฉพาะคนเก่งที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณธรรม ย่อมนำพาชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างเห็นได้ชัด นักวิชาการ และผู้ปกครอง ผู้นำประเทศจึงมุ่งเน้นคนและพัฒนาคนเก่งเพื่อให้เขาได้พัฒนาบ้านเมืองอย่างยั่งยืน“คนเก่ง”ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนถูกละเลย จะก่อผลเสียต่อมนุษยชาติอย่างมากมาย เพราะเขาอาจใช้ความสามารถที่มีอยู่ไปใช้ในทางที่ผิด จนอาจถึงขั้นที่เรียกว่า “อัจฉริยะอาชญากร (Gifted Criminals)”

ศาสตราจารย์ ดร.อารี สัณหฉวี ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ จึงได้นำแนวคิดนี้มาดำเนินการ และในฐานะที่ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถมสาธิต มศว ด้วย จึงเกิดโครงการพัฒนาเด็กปัญญาเลิศขึ้น โดยความร่วมมือจากคณาจารย์ คณะศึกษาศาสตร์ และอาจารย์ของโรงเรียนประถมสาธิต มศว เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างกว้างขวางราบรื่นพลอากาศโท นายแพทย์สดับ ธีระบุตร จึงได้มอบเงินทุนก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษขึ้นในปี พ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นองค์กรแรกของประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถพิเศษของเด็กฉลาดหรือในช่วงนั้นมีคำเรียกหลายคำ เช่น เด็กเก่ง (อังกฤษเรียก Very Able Child) เด็กปัญญาเลิศ (นิยมใช้ในสหรัฐอมริกา Gifted Children) มูลนิธิจึงได้ชื่อว่า “มูลนิธิส่งเสริมเด็กปัญญาเลิศ” ผู้มีอุปการคุณที่เป็นแรงผลักดันอีกท่านคือ หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ซึ่งเดินทางไปศึกษาโดยได้รับทุนการศึกษาจากคุรุสภาให้ไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับ Gifted Education” และได้จัดอบรมสัมมนาวิชาการ แก่คณาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้สนใจ ในเรื่องการพัฒนาเด็กปัญญาเลิศ

กิจกรรมหลักของมูลนิธิส่งเสริมเด็กปัญญาเลิศ คือการค้นหาองค์ความรู้ในการพัฒนาเด็ก ซึ่งคณะทำงานได้ทำการวิจัย ทดลองกับนักเรียนประถมสาธิต มศว และการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลเด็กให้พัฒนาความสามารถที่มีได้อย่างเต็มศักยภาพ กิจกรรมด้านนี้จึงมีทั้ง การฝึกอบรม การสัมมนา การไปร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติการผลิตบทความ ตำรา จุลสาร เพื่อเผยแพร่ความรู้ และยังเปิดเวทีสำหรับบุคคลทั่วไปที่สามารถสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของมูลนิธิฯ เพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ